ว่ายไปๆ

ปลาสวยงาม

วัตถุประสงค์

บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาและเป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน กลุ่มเรียนที่ 20 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ค้นหา

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

เทคนิคการเพาะเลี้ยงและการใช้อาร์ทีเมีย ( Artemia )

เทคนิคการเพาะเลี้ยงและการใช้อาร์ทีเมีย ( Artemia )
                
                อาร์ทีเมียจัดว่าเป็นอาหารธรรมชาติที่สำคัญที่สุดต่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ   โดยเฉพาะมีคุณสมบัติที่พิเศษกว่าอาหารธรรมชาติชนิดอื่นๆ  คือ  ตัวอ่อนมีขนาดเล็กมีความยาวประมาณ  0.4 - 0.5  มิลลิเมตร   เหมาะสำหรับใช้อนุบาลลูกสัตว์น้ำแทบทุกชนิด   เมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยจะค่อนข้างมีขนาดใหญ่มีความยาวประมาณ  0.8 - 1.2  เซนติเมตร   เหมาะที่จะใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลาสวยงาม   นอกจากนั้นไรที่สมบูรณ์เพศแล้วยังสามารถแพร่ขยายพันธุ์ทั้งในแบบออกลูกเป็นตัว   คือให้ตัวอ่อนออกมาเลย   หรือแพร่พันธุ์แบบออกลูกเป็นไข่  โดยไข่ที่ปล่อยออกมาจะมีตัวอ่อนอยู่ภายในฟองละ  1  ตัว   เป็นไข่ที่สามารถนำมาเก็บรักษาไว้ได้เป็นระยะเวลานาน   เมื่อใดที่ต้องการตัวอ่อนจึงนำมาดำเนินการฟัก   ก็จะได้ตัวอ่อนตามต้องการและมีความแน่นอน   ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง  คือ  อาร์ทีเมียยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ในความเค็มระดับต่างๆที่กว้างมาก   มีการเจริญเติบโตรวดเร็วและไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค   ทำให้ดำเนินการเพาะเลี้ยงได้ง่าย   ปัจจุบันได้มีการเลี้ยงอาร์ทีเมียกันบ้างแล้วในนาเกลือตามจังหวัดแถบชายทะเล   ซึ่งส่วนใหญ่จะเลี้ยงเพื่อการรวบรวมอาร์ทีเมียตัวเต็มวัย   สำหรับจำหน่ายในสภาพสดเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์น้ำต่างๆ   โดยเฉพาะอาหารของปลาสวยงาม                               

                  1.การจัดลำดับทางอนุกรมวิธาน  อาร์ทีเมียเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกกุ้งชนิดหนึ่ง   มีชื่อสามัญว่า  Brine  Shrim   หรือ  Artemia  พบทั่วโลกทุกทวีปรวม  47  ประเทศ   โดยพบเฉพาะแหล่งน้ำเค็มหรือน้ำเค็มจัดจำนวน  244  แห่ง  แต่ที่มีปริมาณมากและพอที่จะรวบรวมส่งออกจำหน่าย   มีเพียงไม่กี่แห่ง   ที่สำคัญได้แก่  San Francisco Bay  และ  Great  Salt  Lake   ประเทศสหรัฐอเมริกา   และที่ Buahal  Bay   ประเทศจีน
  
Ruppert  &  Barnes,  1974  ได้จัดลำดับทางอนุกรมวิธานของอาร์ทีเมียไว้ดังนี้

                                                                         Phylum                              :  Arthropoda
                                                                             Class                               :  Crustacea
                                                                                  Sub-class                  :  Branchiopoda
                                                                                      Order                    :  Anostraca
                                                                                           Family             :  Artemiidae
                                                                                                Genus         :  Artemia
                                                                                                     Specie   :  salina

                  2
ลักษณะภายนอก


           


                                                               ภาพ  แสดงลักษณะภายนอกของ  Artemia

                    อาร์ทีเมียมีลำตัวแบนเรียวยาวคล้ายใบไม้   ลำตัวใสแกมชมพู   ไม่มีเปลือกแข็งหุ้มลำตัว (Shelless)   แต่มีเนื้อเยื่อบางๆหุ้มไว้   ว่ายน้ำเคลื่อนที่ในลักษณะหงายท้อง   ลำตัวแบ่งออกเป็น  3  ส่วน  คือ 
- ส่วนหัว (Head)   แบ่งออกได้เป็น  6  ปล้อง   มีตาเดี่ยวและตารวมที่มีก้านตา  1  คู่  และหนวด  2  คู่  
- ส่วนอก (Thorax)   แบ่งออกเป็น  11  ปล้อง   แต่ละปล้องมีระยางค์ปล้องละ  1  คู่   ทำหน้าที่ทั้งในการว่ายน้ำ   หายใจ   และช่วยกรองอาหารเข้าปาก  
- ส่วนท้อง (Abdomen)   แบ่งออกเป็น  8  ปล้อง   ปล้องแรกเป็นที่ตั้งของอวัยวะเพศ   ปล้องที่  2 - 7  ไม่มีระยางค์   และปล้องที่  8  มีแพนหาง  1  คู่  
                   ความแตกต่างระหว่างเพศ   โดยปกติเพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย   และหนวดคู่ที่  2  ของเพศผู้จะมีขนาดใหญ่คล้ายตะขอใช้เกาะเพศเมีย   ทำให้ดูว่ามีส่วนหัวขนาดใหญ่   และเพศเมียจะมีถุงไข่ที่ปล้องแรกของส่วนท้อง

                 3. การแพร่พันธุ์   อาร์ทีเมียสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้  2  แบบ   คือในสภาวะปกติที่ความเค็มตั้งแต่  20 - 120  ppt   จะแพร่พันธุ์โดยออกลูกเป็นตัว   ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ในถุงไข่ของตัวแม่แล้วว่ายน้ำออกมา   ไรที่จะแพร่พันธุ์แบบนี้จะสังเกตได้ว่าไข่ที่อยู่ในถุงไข่มีสีขาว   เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป  เช่น ความเค็มสูงขึ้นมากกว่า  130  ppt  หรือมีการแพร่พันธุ์จนมีปริมาณ  ตัวอาร์ทีเมียอยู่อย่างหนาแน่น   หรือปริมาณอาหารลดลง   หรืออุณหภูมิลดต่ำลงมาก   หรือคุณสมบัติของน้ำไม่เหมาะสม   อาร์ทีเมียส่วนใหญ่จะแพร่พันธุ์แบบออกลูกเป็นไข่   โดยจะปล่อยไข่ที่แก่แล้วออกจากถุงไข่   ไข่จะมีเปลือกหนาและจะไม่ฟักตัวจนกว่าสภาพแวดล้อมจะเหมาะสม  ไรที่จะแพร่พันธุ์แบบนี้จะสังเกตได้ว่าไข่ที่อยู่ในถุงไข่มีสีน้ำตาลเข้ม
  





                                                                        
                                                                                     ภาพ  แสดงวงชีวิตของ   Artemia

                
                    การรวบรวมไข่ที่ Great  Salt  Lake   ประเทศสหรัฐอเมริกา   เป็นทะเลสาบที่มีพื้นที่มากถึง  4,000  ตารางกิโลเมตร   น้ำมีความเค็มอยู่ระหว่าง  150 - 200   ppt   ฤดูการเก็บเกี่ยวไข่ไรจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน  ถึง  เดือนมกราคม   ซึ่งอากาศหนาวเย็นทำให้อาร์ทีเมียออกลูกเป็นไข่   บริษัทต่างๆประมาณ  10  บริษัท  ที่ได้รับสัมปทานจะส่งเครื่องบินออกสำรวจหากลุ่มไข่ของ    อาร์ทีเมีย  ซึ่งมักจะลอยเป็นกลุ่มๆในทะเลสาบความยาวกลุ่มละประมาณ  2 - 3  กิโลเมตร   เมื่อพบจะปักทุ่นจับจองเป็นเจ้าของ   แล้วแจ้งไปยังเรือให้นำทุ่นลอยลักษณะเดียวกับที่ใช้กันคราบน้ำมัน   กันเอาไข่ไว้แล้วใช้เครื่องปั๊มดูดไข่เข้ามาเก็บในถุงกลางลำเรือ   ล้างสิ่งสกปรกออกด้วยน้ำเกลือเข้มข้นก่อนเก็บไว้ในห้องเย็นต่ำกว่า  0  องศาเซลเซียส  ประมาณ  2  เดือน   แล้วนำมาตรวจสอบอัตราการฟักเพื่อคัดเกรดคุณภาพ   จากนั้นจึงบรรจุกระป๋องสุญญากาศส่งไปจำหน่ายทั่วโลก

                 4. วิธีการฟักไข่อาร์ทีเมีย การใช้อาร์ทีเมียในปัจจุบันมักได้จากการซื้อไข่ไรที่บรรจุอยู่ในกระป๋องสุญญากาศ   เมื่อต้องการตัวอ่อนของอาร์ทีเมียเมื่อใด   ก็นำไข่ไรที่ซื้อไว้มาฟักตัว   ซึ่งควรทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
                   - เตรียมภาชนะฟักไข่   ส่วนมากจะใช้ภาชนะทรงกลมที่มีขนาดเล็ก  มีความจุประมาณ 5 - 20 ลิตร   ยกเว้นฟาร์มขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องเพาะครั้งละมากๆ   จะใช้ถังไฟเบอร์ขนาด  100 - 200  ลิตร
                   - เตรียมน้ำ   โดยใช้น้ำทะเลปกติ   หรือน้ำจืดผสมด้วยเกลือให้มีความเค็ม  25  ppt (คือ น้ำ  1  ลิตร  จะใช้เกลือ  25  กรัม)
                   - ใส่ไข่อาร์ทีเมียที่เตรียมไว้   ในปริมาณประมาณ  1  ช้อนชา ต่อน้ำ  5  ลิตร
                   - ใส่สายลม   เพื่อให้ออกซิเจน   และทำให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำในภาชนะ   ซึ่งจะทำให้ไข่ไรไม่ตกตะกอน   แต่ลอยหมุนเวียนไปมาในน้ำตลอดเวลา
                   - ใช้เวลา  24 - 36  ชั่วโมง   ไรจะฟักตัวออกจากไข่   จะสังเกตได้ว่าน้ำในภาชนะที่ใช้ฟักไข่มีสีส้ม   เนื่องจากตัวอ่อนของอาร์ทีเมียที่ออกจากไข่ใหม่ๆ   ตัวจะมีสีส้มเข้ม   เหมาะที่จะนำไปใช้อนุบาลลูกปลา

                 5. การแยกตัวอ่อนของอาร์ทีเมียออกจากเปลือกไข่   ตัวอ่อนของไรที่ได้จากการฟักตัวจะมีเปลือกไข่ปะปนอยู่ด้วย   จำเป็นต้องแยกตัวอ่อนออกจากเปลือกไข่   เพราะลูกปลาไม่สามารถย่อยเปลือกไข่ได้   และที่สำคัญคือเปลือกไข่มักมีแบคทีเรียอยู่มาก   จะทำให้ปลาติดเชื้อได้ง่าย   จึงต้องแยกเปลือกไข่ออกทิ้ง   โดยทำตามขั้นตอนดังนี้
                  - ยกสายลมออก   เพื่อให้น้ำหยุดการหมุนเวียน
                  - ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ  15 - 20  นาที   ตัวอ่อนของไรจะว่ายน้ำลงไปรวมกลุ่มอยู่ตามก้นภาชนะ  ส่วนเปลือกไข่ที่ไรฟักตัวออกไปแล้วจะลอยอยู่ผิวน้ำ   สำหรับไข่ที่ไม่ฟักตัวและตะกอนต่างๆจะตกตะกอนอยู่ก้นภาชนะ
             - ใช้สายยางเล็กๆหรือสายลมดูดเอาตัวอ่อนอาร์ทีเมียโดยวิธีกาลักน้ำที่ก้นภาชนะ   แล้วกรองไว้ด้วยกระชอนผ้าตาถี่                  
                                                                                                                                                                                                                                                                      
             - นำตัวอ่อนอาร์ทีเมียที่อยู่ในกระชอนไปแกว่งล้างน้ำจืด  2 - 3  ครั้ง   ก่อนนำไปเลี้ยงลูกปลา
                 6. เทคนิคการแยกตัวอ่อนอาร์ทีเมียออกจากเปลือกไข่  เนื่องจากมักเกิดปัญหาเรื่องการติดเชื้อเพราะแยกเปลือกไข่ออกไม่หมด   จึงจำเป็นต้องหาวิธีที่จะแยกเปลือกไข่ให้ดียิ่งขึ้น   ซึ่งทำได้ดังนี้
                  - เมื่อยกสายลมออกแล้วให้ตะแคงภาชนะไปทางด้านที่มีแสงเข้ามา   เพราะตัวอ่อนอาร์ทีเมียชอบว่ายน้ำเข้าหาแสง   จะทำให้ไรว่ายน้ำลงไปรวมกันในส่วนลึกเกือบหมด   ทำให้สะดวกในการดูดตัวไรออกมาได้ง่ายขึ้น
                  - เมื่อยกสายลมออกแล้วใช้กระดาษทึบแสงปิดรอบภาชนะ   เว้นเฉพาะทางด้านก้นภาชนะไว้ประมาณ  3  เซนติเมตร   จะทำให้ไรส่วนใหญ่ว่ายน้ำลงไปรวมที่ช่องแสงที่ก้นภาชนะ   
ทำให้รวบรวมไรได้ง่ายขึ้น
                

           
                                   
                               ภาพแสดงวิธีการแยกตัวอ่อนอาร์ทีเมียออกจากเปลือกไข่


                   7. การเลี้ยงอาร์ทีเมียให้เป็นตัวเต็มวัย  การใช้อาร์ทีเมียตัวเต็มวัยเป็นอาหารปลาสวยงามกำลังได้รับความนิยมมาก   เพราะอาร์ทีเมียมีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูงและปลาชอบกิน   อีกทั้งปลายังสามารถย่อยได้ดีเหลือกากขับถ่ายออกมาน้อย   ดังนั้นหากผู้เลี้ยงปลาสวยงามต้องการเลี้ยงอาร์ทีเมียไว้เลี้ยงปลาสวยงามด้วยตนเอง   ก็สามารถทำได้ไม่ยุ่งยากมากนัก   ตามขั้นตอนต่อไปนี้  

                      การเตรียมบ่อเลี้ยง   บ่อที่จะใช้เลี้ยงอาร์ทีเมียอาจใช้กะละมังพลาสติกขนาดใหญ่   หรือใช้ถังซีเมนต์กลม(ถังส้วม)ก็ได้   ซึ่งทั้งกะละมังและถังส้วมจะมีรูปทรงเป็นทรงกระบอก   การคำนวณหาปริมาตรน้ำในบ่อเลี้ยงนี้จะใช้สูตร

                    ปริมาตรน้ำ        =      22/7 x r x r x  h

          เมื่อ      r     =   รัศมีของปากบ่อ (ครึ่งหนึ่งของเส้นผ่าศูนย์กลาง)

                     h    =   ความสูงของระดับน้ำที่จะใส่ในบ่อ

ตัวอย่าง   จะเลี้ยงอาร์ทีเมียในถังซีเมนต์กลม   ซึ่งมีความกว้างที่ปากถัง(เส้นผ่าศูนย์กลาง)เท่ากับ  80  เซนติเมตร   โดยจะใส่น้ำระดับสูง  30  เซนติเมตร

          \ถังซีเมนต์จะมีความจุน้ำ      =   22/7 X 40  X 40 X 30

                                                            =   150,864                            ลูกบาศก์เซนติเมตร(ซีซี)

          จาก   ปริมาตร  1  ลิตร           =   1,000                                 ลูกบาศก์เซนติเมตร(ซีซี)

          \ถังซีเมนต์จะมีความจุน้ำ      =   150,864 /1,000                 ลิตร

                                                            =   150.86                              ลิตร

          นั่นคือ  ถังซีเมนต์จุน้ำได้ประมาณ     150    ลิตร

    *

      การเตรียมน้ำเค็ม   เมื่อแช่ถังซีเมนต์จนหมดฤทธิ์ปูนแล้ว   ใส่น้ำจืดแล้วเติมเกลือแกงหรือเกลือทะเล(หาซื้อได้จากร้านขายอาหารสัตว์)ให้น้ำมีความเค็มในระดับ  60 - 80  ppt   ซึ่งเป็นระดับความเค็มที่อาร์ทีเมียมีการเจริญเติบโตดีและมีอัตราการรอดสูง

          จากตัวอย่างข้างต้น    ถังซีเมนต์มีความจุน้ำ   150  ลิตร   ถ้าต้องการเตรียมน้ำให้มีความ  เค็ม  80  ppt   จะต้องใส่เกลือเท่าใด

          การคิด  ความเค็ม  80  ppt  หมายความว่า  ปริมาตรน้ำ  1  ลิตร  จะต้องใส่เกลือ  80  กรัม

          - ถังซีเมนต์ดังกล่าวจะต้องเติมเกลือ    =   80 X 150              กรัม

                                                                              =   12,000                 กรัม

          จาก    ปริมาณเกลือ  1  กิโลกรัม            =   1,000                   กรัม

          \ ถังซีเมนต์ดังกล่าวจะต้องเติมเกลือ    =    12,000 / 1,000     กิโลกรัม

                                                                              =     12.0                   กิโลกรัม

                   นั่นคือ   เติมเกลือลงในถังซีเมนต์จำนวน  12  กิโลกรัม   แล้วเติมน้ำให้ได้ระดับ  30  เซนติเมตร   กวนน้ำให้เกลือละลายจนหมด   ก็จะได้น้ำที่มีความเค็ม  80  ppt  ตามต้องการ

                    การเตรียมอาหาร   น้ำที่เตรียมเสร็จแล้วนั้นจะไม่มีอาหารธรรมชาติอยู่เลย   จะต้องเตรียมให้มีอาหารธรรมชาติสำหรับเป็นอาหารของอาร์ทีเมีย   โดยใช้อาหารผง(อาหารผงสำหรับอนุบาลลูกปลาดุก   หาซื้อได้จากร้านขายปลาสวยงาม   หรือร้านขายอาหารสัตว์) ใส่ลงไปในน้ำจำนวน  2  ช้อนโต๊ะ   แล้วใส่สายลมเพื่อทำให้น้ำเกิดการหมุนเวียน   เป็นการช่วยผสมน้ำเกลือที่เตรียมให้เป็นเนื้อเดียวกัน   และช่วยกระจายอาหารให้สลายตัวเกิดอาหารธรรมชาติได้ดี   ปล่อยทิ้งไว้  3 - 4 วัน

        หมายเหตุ   บ่อเลี้ยงอาร์ทีเมียควรตั้งอยู่ภายนอกอาคาร   เพื่อให้ได้รับแสงแดดบ้างพอควร   จะทำให้เกิดแพลงตอนพืชได้ดีซึ่งเป็นอาหารที่สำคัญของไร

                     เติมเชื้อไร   ถ้ามีไข่อาร์ทีเมีย   ให้ใช้ไข่ไรประมาณ  1 / 4  ช้อนชา   นำไปฟักในภาชนะใช้น้ำประมาณ  5  ลิตรและเตรียมให้มีความเค็ม  25  ppt   ใช้เวลาประมาณ  30  ชั่วโมง  ไรจะฟักตัวหมด   ควรแยกตัวอ่อนไรออกจากเปลือกไข่ ( ดูหัวข้อ  5.5.5  และ  5.5.6 )   ตัวอ่อนไรที่ได้นี้อย่าพึ่งปล่อยลงบ่อเลี้ยงทันที   เพราะความเค็มที่ใช้ฟักไข่กับความเค็มที่บ่อเลี้ยงต่างกันมาก   ควรปรับความเค็มก่อน   โดยใช้ถังพลาสติกที่ใช้ตักน้ำโดยทั่วๆไป   ซึ่งจะมีความจุประมาณ  10 - 12  ลิตร   นำตัวอ่อนไรที่แยกออกมาจากเปลือกไข่ โดยใช้สายยางดูดให้ได้น้ำมาด้วยประมาณ 2 ลิตร ใส่ลงในถังพลาสติก   แล้วตักน้ำจากบ่อเลี้ยงที่มีความเค็ม  80  ppt เติมลงในถังครั้งละ  1  ลิตร   โดยเติมชั่วโมงละครั้ง   และใส่ลมให้น้ำเกิดการหมุนเวียนผสมกัน   ทำไปประมาณ  8 - 10 ครั้ง   น้ำในถังก็จะมีความเค็มใกล้เคียงกับในบ่อเลี้ยง   ก็สามารถเทลงบ่อเลี้ยงได้ 
                     ถ้าไม่มีไข่อาร์ทีเมีย  หาซื้ออาร์ทีเมียตัวเต็มวัยที่มีขายสำหรับนำไปใช้เลี้ยงปลา   นำมาปล่อยลงบ่อเลี้ยง   ก่อนปล่อยจะต้องมีการปรับความเค็มน้ำเช่นกัน   เพราะไรที่นำมาขายจะถูกปรับมาอยู่ในความเค็มประมาณ
  30  ppt
   

                  การเติมอาหาร   ไรที่ปล่อยเลี้ยงจะต้องมีการให้อาหาร   โดยใช้อาหารผงเช่นเดิม   ซึ่งในบ่อซีเมนต์ตามตัวอย่างควรให้อาหารวันละประมาณ  1 / 2  ถึง  1  ช้อนชา   ขึ้นกับขนาดและปริมาณไร   อาหารผงที่ให้จะเป็นทั้งอาหารไรโดยตรง  และส่วนที่เหลือจะทำให้เกิดอาหารธรรมชาติได้   ต้องระวังเรื่องน้ำเน่าเสีย   หากสังเกตุเห็นว่าอาหารเหลือมากและน้ำมีกลิ่นเหม็นมากควรงดให้อาหารประมาณ  3  วัน   แล้วเริ่มให้ใหม่ทีละน้อย
                   

                 การเก็บเกี่ยวไร   การช้อนไรไปใช้นั้นหากปล่อยไรโดยใช้ตัวอ่อนที่ฟักจากไข่   จะใช้เวลาประมาณ  15 - 20  วัน ไรจะเติบโตเป็นตัวเต็มวัย   ขึ้นกับปริมาณความหนาแน่นและอาหาร   จากนั้นจะสามารถทยอยช้อนไรไปเป็นอาหารปลาได้เรื่อยๆ   ไรที่เหลือจะแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นมาเอง   ส่วนการปล่อยโดยใช้ไรเต็มวัยก็เช่นเดียวกัน   จะใช้เวลาประมาณ  15 - 20  วันเช่นกัน  ไรที่ปล่อยก็จะแพร่พันธุ์ให้ไรเพิ่มขึ้นจนสามารถเก็บเกี่ยวได้

                  8. การเตรียมอาร์ทีเมียก่อนนำไปใช้เป็นอาหารปลา ก่อนนำอาร์ทีเมียไปใช้เลี้ยงปลาจะต้องปรับน้ำในตัวไรให้มีความเค็มลดลง   เนื่องจากอาร์ทีเมียถูกเลี้ยงในน้ำที่มีความเค็มสูงมาก   หากไม่ทำให้ตัวไรจืดลงปลาจะไม่ชอบกินหรือกินได้น้อย   ถ้าใช้วิธีช้อนไรมาแช่ในน้ำจืดสนิททันทีทันใด   ไรจะเคลื่อนไหวช้าลงแล้วจะตายภายใน  20 - 30  นาที   ความเค็มในตัวไรยังลดลงไม่มากนัก   การลดความเค็มในตัวไรลงทำได้โดยการใช้ภาชนะเล็กๆ   เช่นขันหรือถัง   ตักน้ำจากบ่อเลี้ยงไรมาประมาณ  1 / 10  ของภาชนะที่จะใช้   แล้วเติมน้ำจืดให้เกือบเต็ม   คนให้เข้ากันแล้วใส่สายลม   จะได้น้ำกร่อยที่มีความเค็มประมาณ  5 - 8   ppt   จากนั้นช้อนไรที่จะให้ปลากินมาใส่ไว้   ซึ่งที่ความเค็มระดับนี้ไรจะมีชีวิตอยู่ได้   จะมีการว่ายน้ำไปมาตามปกติ   ช่วยให้ความเค็มในตัวลดลงได้ดี   ควรปล่อยเลี้ยงไว้ประมาณ  2 - 3  ชั่วโมงจึงนำไปเลี้ยงปลา   สำหรับความเค็มในระดับที่เตรียมใหม่นี้ไรจะมีชีวิตอยู่ได้  1 - 3  วัน   ดังนั้นอาจปล่อยไรทิ้งไว้ในตอนเช้าสำหรับใช้เป็นอาหารปลาในตอนเย็น   และแช่ไว้ในตอนเย็นสำหรับใช้เป็นอาหารในตอนเช้า   ก็จะทำให้ปลากินไรได้ดีและปลอดภัย

                9. การเพาะเลี้ยงอาร์ทีเมียในบ่อดิน  ปัจจุบันมีฟาร์มเพาะเลี้ยงอาร์ทีเมียภายในประเทศอยู่ประมาณ 20 ฟาร์ม  ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา   ชลบุรี   สมุทรสาคร   สมุทรสงคราม   และเพชรบุรี   สามารถผลิตอาร์ทีเมียได้วันละ  400 - 1,000  กิโลกรัม   การเลี้ยงอาร์ทีเมียในบ่อดินมีการจัดการดังนี้ 

                   การเตรียมบ่อ   มักใช้บ่อขนาด  1 - 6  ไร่  ลึกประมาณ  1  เมตร  โดยมักขุดบ่อให้มีความยาวไปตามทิศทางลม

                   การเตรียมน้ำ   ใช้น้ำที่มีความเค็มอยู่ระหว่าง  80 - 120  ppt   ดังนั้นต้องมีแปลงตากน้ำทะเลเช่นเดียวกับการทำนาเกลือ   เพื่อให้น้ำมีความเค็มสูงขึ้นตามที่ต้องการแล้วจึงปล่อยเข้าบ่อเลี้ยง   ตรวจสอบค่า pH ให้มีค่าอยู่ระหว่าง  8.0 - 9.0
    
                   การปล่อยไรลงบ่อ   ถ้าปล่อยไรเต็มวัย   จะใช้ไรประมาณ  6  กิโลกรัม / ไร่   แต่ถ้าใช้ไข่มาฟักเพื่อปล่อยตัวอ่อน   จะใช้ไข่ไรประมาณ  150 - 200  กรัม / ไร่
    
                   การให้อาหาร   มีวิธีการทำได้  2  แบบ  คือ    
                   วิธีแรก   ให้โดยใส่ลงในบ่อเลี้ยงโดยตรง   จะค่อยๆทยอยใส่ทีละน้อย   ไรจะกินอาหารไปโดยตรงส่วนหนึ่ง  ส่วนที่เหลือจะสลายทำให้เกิดอาหารธรรมชาติ   อาหารที่ใช้ได้แก่มูลไก่  ประมาณ  200  กิโลกรัม / ไร่ / เดือน   ร่วมกับกากผงชูรส  ประมาณ  30 - 90  ลิตร / ไร่ / เดือน    
                   อีกวิธีหนึ่งคือ   มีบ่อหมักอาหารต่างหาก   จะใส่อาหารลงบ่อหมักให้เน่าเกิดแพลงตอน   แล้วจึงทยอยสูบไปลงบ่อเลี้ยง   การให้อาหารทั้ง  2  วิธี   จะให้มากน้อยและบ่อยครั้งเพียงใด   ขึ้นอยู่กับฤดูกาล   และปริมาณอาหารที่มีอยู่ในบ่อ   โดยสังเกตจากสีของน้ำและความโปร่งแสง   นอกจากนั้นจะมีการใช้ไม้คราดอาหารที่พื้นก้นบ่อให้ฟุ้งกระจาย   อย่างน้อยสัปดาห์ละ  1 - 3  ครั้ง   ในปัจจุบันยังนิยมทำคอกไว้มุมบ่อสำหรับหมักหญ้าและเศษพืช   เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติมากขึ้น
    
                   การเก็บเกี่ยวผลผลิต  หลังจากปล่อยเลี้ยงไปประมาณ  15  วัน   ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวไรออกไปจำหน่ายได้   โดยจะได้ผลผลิตประมาณ  50 - 100 กิโลกรัม / ไร่ / เดือน   และในสภาพแวดล้อมที่ผิดปกติ  จะสามารถรวบรวมไข่ไรได้ ประมาณ 5 - 10 กิโลกรัม / ไร่ / เดือน (น้ำหนักเปียก)

                 10. การลำเลียงอาร์ทีเมีย   วิธีการลำเลียงอาร์ทีเมียที่นิยมกระทำกัน  คือ   การลำเลียงในสภาพสด   โดยบรรจุถุงพลาสติก  ถุงละ  1  กิโลกรัม  แล้วเติมน้ำ  5  ลิตร   ในถุงจะบรรจุถุงน้ำแข็งอยู่  2  ถุง   แล้วจึงอัดออกซิเจนใส่ถุง   จากนั้นนำถุงไปบรรจุลงในลังโฟมซึ่งรองพื้นด้วยน้ำแข็งอีก  6  ถุง   ความเย็นจะทำให้ไรสลบ   ช่วยลดความบอบช้ำ   ทำให้ลำเลียงไปได้ไกลๆ   นิยมใช้กับการลำเลียงระยะทางไกลหรือการส่งออก   แต่ถ้าลำเลียงระยะใกล้ๆจะใช้วิธีการอัดออกซิเจนเพียงอย่างเดียวก็พอแล้ว











                    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น