ว่ายไปๆ

ปลาสวยงาม

วัตถุประสงค์

บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาและเป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน กลุ่มเรียนที่ 20 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ค้นหา

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

เทคนิคการเพาะเลี้ยงและการใช้หนอนแดง

เทคนิคการเพาะเลี้ยงและการใช้หนอนแดง


                 หนอนแดงเป็นอาหารธรรมชาติ   ที่มีประโยชน์ต่อการเลี้ยงปลาสวยงามอย่างมาก  เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง   เหมาะสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพื่อให้มีการพัฒนาของเซลล์สืบพันธุ์ที่ดี   และเป็นอาหารที่ปลาสวยงามส่วนใหญ่ชอบกิน   เป็นอาหารที่นิยมใช้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ   เพราะทำให้ปลาเจริญเติบโตเร็ว   มีสีสันสดใส   ไม่ทำให้น้ำเน่าเสียหรือมีตะกอนมากเหมือนกับอาหารธรรมชาติบางชนิด   แต่เนื่องจากหายากและมีราคาค่อนข้างแพง   จึงนิยมใช้เลี้ยงเฉพาะปลาที่มีราคาแพงหรือกินอาหารสำเร็จรูปยาก   เช่น  ปลาปอมปาดัวร์และปลาเทวดา   ในอดีตจะรวบรวมหนอนแดงได้จากพื้นก้นแหล่งน้ำ   โดยเฉพาะแหล่งน้ำเสียแต่ปัจจุบันหาได้ยากขึ้น   ในขณะที่ความต้องการหนอนแดงกลับมีมากขึ้นเรื่อยๆ   จึงทำให้มีการเพาะเลี้ยงหนอนแดงเป็นการค้าขึ้นมาเช่นกัน
                   4.1 การจัดลำดับทางอนุกรมวิธาน  หนอนแดงจัดเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังประเภทสัตว์หน้าดิน (Benthos)   จะอาศัยอยู่ตามพื้นก้นบ่อหรือแหล่งน้ำทั่วๆไป   หนอนแดงเป็นตัวอ่อนของแมลงที่มีลักษณะคล้ายยุง   เรียกว่า ริ้น”   มีทั้งชนิดที่เป็นน้ำจืด   น้ำกร่อย   และน้ำเค็ม   ชนิดที่พบมากในน้ำจืดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า   Chironomous  spp.   มีลักษณะคล้ายยุงแต่มีขายาวกว่า   ไม่ทำอันตรายหรือดูดเลือดมนุษย์   ริ้นเพศเมียไม่ต้องการเลือดเป็นอาหารเหมือนยุงเพศเมีย   ส่วนริ้นเพศผู้มีหัวเล็กและมีหนวดเป็นพู่(Plumose)   ริ้นพวกนี้มักชอบเกาะอยู่ตามที่มืดชายน้ำ   แล้วเพศเมียจะวางไข่ตามผิวน้ำ   ลักษณะไข่จะมีวุ้นหุ้มต่อกันเป็นสาย   เกาะติดอยู่ตามลำต้นหรือใบของพันธุ์ไม้น้ำตามผิวน้ำ   โดยจะวางไข่คราวละ  400 - 500 ฟอง   ใช้เวลาฟักตัวประมาณ  50  ชั่วโมง   ตัวอ่อนที่ออกจากไข่มีความยาวประมาณ  1.0  มิลลิเมตร   และเมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ  1.0 - 1.2  เซนติเมตร    หนอนแดงที่พบโดยทั่วไปมีชื่อสามัญว่า  Midge    แต่เนื่องจากลำตัวมักมีสีแดงสด   จึงอาจเรียกว่า  Blood  Worm   จัดลำดับชั้นได้ดังนี้

          Phylum               :  Arthropoda


             Class                    :  Insecta



                      Order               :  Diptera



                                        Family         :  Chironomidae



                                        Genus     :  Chironomus

                   4.2 ลักษณะภายนอก  หนอนแดงมีลำตัวยาว   ส่วนหัวแยกจากลำตัวชัดเจน   และมีตาเห็นเป็นจุดสี
ดำ  1  คู่   ส่วนอกขยายใหญ่   มีอวัยวะหายใจยื่นยาวออกมาเป็นท่อเล็กๆ  1  คู่   มีอวัยวะทำหน้าที่คล้ายขา (Pseudopods  หรือ  False  Legs) อยู่  2  คู่   คู่แรกอยู่ที่ปล้องแรกของส่วนอก   คู่ที่  2  อยู่ที่ปล้องสุดท้ายของส่วนท้อง   นอกจากนั้นหนอนแดงยังสามารถว่ายน้ำได้   โดย
การบิดตัวไปมา 
                   4.3 วงชีวิต

                 
                                                                          ภาพ  แสดงวงชีวิตของหนอนแดง

                   4.4 การเพาะเลี้ยงหนอนแดง   ส่วนใหญ่นิยมใช้บ่อดินเพราะจะให้ผลผลิตค่อนข้างสูง   มีขั้นตอนดังนี้
                   ขั้นที่ 1 การเตรียมบ่อ    ขนาดที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง  1,000 - 1,600  ตารางเมตร   ปรับคันบ่อให้สามารถเก็บน้ำได้ประมาณ  30  เซนติเมตร   หว่านด้วยปูนขาวประมาณ  10 - 15  กิโลกรัม   ตากบ่อไว้ประมาณ  1  สัปดาห์
                   ขั้นที่ 2 หว่านปุ๋ย   ใช้ปุ๋ยมูลสัตว์   ซึ่งที่นิยมใช้กันในปัจจุบันได้แก่มูลไก่แห้ง   ปริมาณ  1,000 - 1,500  กิโลกรัม   หว่านกระจายให้ทั่วบ่อ   แล้วเติมน้ำเข้าบ่อให้ได้ระดับ  30  เซนติเมตร   ริ้นน้ำจืดจะมาวางไข่ติดตามต้นและใบหญ้าบริเวณผิวน้ำที่ขอบบ่อ  หลังจากนั้นประมาณ  2  วัน   ตัวอ่อนของริ้นน้ำจืดจะฟักตัวออกจากไข่    ซึ่งจะพอดีกับที่บ่อจะมีแบคทีเรีย   และ แพลงตอนต่างๆซึ่งเกิดจากการใส่มูลไก่   ตัวอ่อนจะได้รับอาหารเจริญเติบโตและสร้างปลอกอยู่ตามพื้นก้นบ่อ   ในเวลา  7 - 10  วันจะมีขนาดประมาณ  1.0  เซนติเมตร   เหมาะที่จะนำไปใช้ในการเลี้ยงปลาสวยงาม
                   ขั้นที่ 3 การเก็บผลผลิต   จะเริ่มเก็บเกี่ยวหนอนแดงประมาณวันที่  10 - 15  หลังจากเติมน้ำ  ซึ่งจะขึ้นกับฤดูกาล   วิธีการเก็บรวบรวมหนอนแดง   ตอนแรกจะใช้สวิงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  40 - 50  เซนติเมตร   ทำด้วยผ้าไนล่อนสีฟ้าขนาดช่องตาประมาณ  1 - 2 มิลลิเมตร   ช้อนลงไปที่พื้นก้นบ่อให้ลึกลงไปในดินประมาณ  2 - 3  เซนติเมตร   แล้วทำการร่อนโดยเขย่าสวิงไปมาบริเวณผิวน้ำ   จะทำให้ดินและโคลนที่ถูกช้อนขึ้นมากระจายตัวผ่านไนล่อนของสวิงออกไป   ส่วนหนอนแดงถึงแม้ขนาดของลำตัวจะเล็กพอที่จะลอดช่องตาออกไปได้เช่นกัน   แต่เนื่องจากมีความยาวและชอบม้วนตัว   จึงทำให้ไม่สามารถลอดออกไปได้   ดังนั้นในสวิงจะเหลือเศษวัสดุที่มีขนาดใหญ่  เช่น  ใบไม้   ขนไก่  รวมทั้งหนอนแดง  ก็ใช้กระชอนผ้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  20  เซนติเมตร   ช้อนทั้งหมดไปใส่ภาชนะไว้แล้วเก็บเศษวัสดุที่ไม่ต้องการออก   ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนทั่วทั้งบ่อ
                   ขั้นที่ 4 การปรับสภาพบ่อ เมื่อทำการเก็บเกี่ยวหนอนแดงเสร็จแล้ว   ระบายน้ำในบ่อทิ้งให้ลดระดับลงประมาณ  10  เซนติเมตร   จากนั้นหว่านด้วยมูลไก่แห้งอีก  200 - 300  กิโลกรัมแล้วเติมน้ำให้ได้ระดับเดิม
                จากนั้นจะสามารถดำเนินการตามขั้นที่ 3 และ 4  อีก   โดยสามารถทำได้ประมาณ  3  ครั้ง   ซึ่งจะได้ผลผลิตหนอนแดงประมาณ  200  กรัม / ตารางเมตร / ครั้ง   ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ  30  วัน   เก็บเกี่ยวหนอนแดงได้  3  ครั้ง
ขั้นที่ 5 การเตรียมบ่อ จะดำเนินการย้อนกลับไปขั้นที่ 1   โดยควรตากบ่อไว้นานประมาณ  10 - 15  วัน   แล้วดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน
                  การเก็บรักษาหนอนแดง   กระทำได้  5  วิธี  คือ
                   4.4.1 การเก็บสด   จะเก็บหรือเลี้ยงหนอนแดงในภาชนะ   เช่นกะละมังขนาดใหญ่   ให้อากาศเช่นเดียวกับการเลี้ยงปลา   แล้วใช้อาหารผงที่ใช้สำหรับอนุบาลลูกปลาดุกเป็นอาหารเลี้ยงหนอนแดง จะเลี้ยงหนอนแดงไว้ได้อย่างดี ถึงแม้หนอนแดงบางส่วนจะลอกคราบ กลายเป็นหัวโม่ง   เพื่อจะลอกคราบอีกครั้งแล้วกลายเป็นตัวเต็มวัย   หนอนแดงที่กลายเป็นหัวโม่งสามารถช้อนไปเป็นอาหารปลาได้ดี   เพราะในระยะที่เป็นหัวโม่งหนอนแดงจะชอบอยู่ที่ผิวน้ำ   ทำให้ช้อนได้ง่ายและปลาชอบกินด้วย
                  4.4.2 การเก็บแห้ง   ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำให้ชุ่มแล้วห่อหนอนแดงไว้   จากนั้นเอาใส่ภาชนะเก็บไว้ในตู้เย็นหรือถังโฟม   ให้มีอุณหภูมิประมาณ  10 - 15  องศาเซลเซียส   จะเก็บไว้ได้   3 - 5  วันโดยที่หนอนแดงยังมีชีวิตอยู่
                  4.4.3 การเก็บแช่แข็ง  จะเก็บหนอนแดงโดยการรวบรวมใส่ถุงพลาสติกหรือใส่กล่องพลาสติกแล้วนำไปแช่แข็ง   วิธีนี้หนอนแดงจะตายหมด   แต่ยังสดและมีคุณค่าทางอาหารดีอยู่   เมื่อนำไปเลี้ยงปลาก็ยังชอบกินเช่นเดิม


                  4.4.4 การแช่แข็งแบบพิเศษ   เป็นการเก็บรักษาหนอนแดงเพื่อการส่งออก   โดยการแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลว   วิธีนี้หนอนแดงจะฟื้นประมาณ  40 %   แต่จะไม่แข็งแรงเพียงแต่มีการเคลื่อนไหวทำให้ปลาชอบกิน
4.4.5 การอบแห้ง  เป็นการเก็บหนอนแดงโดยการอบแห้งแล้วบรรจุกระป๋องสุญญากาศ   เป็นวิธีการที่นิยมทำเป็นการค้าในปัจจุบัน   หนอนแดงที่ผ่านการอบแห้งแล้วนี้ปลายังชอบกินเช่นกัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น